การเลือกซื้อคาร์ซีทให้ถูกต้องและปลอดภัยต่อตัวลูกน้อยนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ เพราะถ้าหากเลือกซื้อไม่เหมาะสมกับช่วงอายุในแต่ละวัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นหรืออุบัติเหตุ อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้นั่นเองครับ สำหรับคาร์ซีทเป็นเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เมื่อต้องออกเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ก็ต้องใช้คาร์ซีทเพื่อช่วยปกป้องลูกน้อย และช่วยลดระดับความรุนแรงจากการเกิดอุบัติได้ รวมถึงลดการบาดเจ็บของร่างกายได้อีกด้วยครับ
ส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระของเด็ก ซึ่งเข็มขัดนิรภัยทั่วไปที่ติดตั้งมาให้ในรถยนต์นั้นจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีส่วนสูงเกิน 140 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นลูกน้อยอาจได้รับบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายได้ เพราะการเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้กระดูกต้นคอหัก ทำให้เสี่ยงเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ปอด รวมถึงตับ และม้ามแตกได้ การเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งมีความรุนแรงไม่เท่ากัน ฉะนั้นหากป้องกันให้ดีพอจะช่วยลดความรุนแรงได้นั่นเองครับ
และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ราชกิจจานุเบกษา ได้มีประกาศพระราชบัญญัติ จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) ซึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ถนน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 โดยสาระสำคัญมีดังนี้
- ผู้โดยสารที่นั่งข้างหน้า และข้างหลัง จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดในการเดินทาง
- เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ขวบ จะต้องจัดให้นั่งใน “คาร์ซีท” เพื่อป้องกันอันตราย
- ผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ว่าจะนั่งข้างหน้าหรือข้างหลัง
ในกรณีที่ผู้โดยสารหรือผู้ขับขี่มีปัญหาด้านสุขภาพที่ไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม
และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
แล้วสงสัยไหมครับว่า ซื้อคาร์ซีทมาแล้วพอนำมาใช้จริงกลับไม่ได้ป้องกันอะไรหรือไม่สามารถล็อคตัวลูกน้อยของท่านได้เป็นเพราะอะไรกัน และสำหรับวิธีการติดตั้งคาร์ซีทให้ปลอดภัยจะมีอะไรบ้าง ยูไนเต็ด ฮอนด้า นำข้อมูลดีๆ มาฝากกันครับ
1. เลือกคาร์ซีทให้เหมาะสมกับลูกน้อย
คาร์ซีทมีหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบจะถูกแบ่งเป็นช่วงอายุตามความเหมาะสมของแต่ละวัย ซึ่งแต่ละประเภทจะถูกออกแบบมาให้รองรับกับวัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนัก ส่วนสูง สัดส่วนในแต่ละวัย สำหรับรูปแบบคาร์ซีทแต่ละประเภทมีดังนี้ครับ
- คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้า สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิด-2 ปี เหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 10 กิโลกรัม ซึ่งคาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าจะสามารถปกป้องหัวของเด็ก ลำคอ และกระดูกสันหลังได้ดี แล้วยังสามารถปรับเอนไปกับที่นั่งได้อีกด้วย
- คาร์ซีทแบบหันหน้าออก สำหรับเด็กช่วงอายุตั้งแต่ 2-7 ปี โดยน้ำหนักตัวไม่เกิน 9 กิโลกรัม ซึ่งคาร์ทแบบหันหน้าออกจะหันไปทิศทางเดียวกับเบาะนั่นเองครับ
- บูสเตอร์ซีท สำหรับเด็กช่วงอายุตั้งแต่ 4-12 ปี เหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15-18 กิโลกรัม คาร์ซีทแบบนี้จะเป็นการเสริมความสูง เพื่อให้ลำตัวพิงไปกับพนักพิงด้านหลัง
- และสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป จะใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์
2.ติดตั้งไว้เบาะหลัง
เพราะเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถุงลมนิรภัยที่ติดมากับตัวรถยนต์ที่อยู่ด้านหน้านั้นจะกระแทกโดนเด็ก ฉะนั้นควรติดตั้งที่นั่งนิรภัยไว้ข้างหลังจะดีกว่านะครับ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำอันตรายต่อตัวลูกน้อยนั่นเอง
3. ติดตั้งแบบหันหน้าเข้าเบาะ
การติดตั้งแบบหันหน้าเข้าเบาะจะเป็นการลดแรงกระแทกบริเวณตำแหน่งศีรษะได้เป็นอย่างดีครับ เพราะหากรถเกิดการเบรคกะทันหันจะทำให้โดนตัวลูกน้อยได้ง่าย และอาจเป็นอันตรายได้ครับ
4. อ่านคู่มือการติดตั้ง
เพราะคาร์ซีทแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันออกไป รวมถึงการใช้งานก็จะไม่เหมือนกันทั้งหมด ฉะนั้น ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตั้งให้เรียบร้อยเสียก่อนนะครับ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวลูกน้อยของท่านเอง
5. คาดเข็มขัดนิรภัยให้เหมาะสม
การคาดเข็มขัดนิรภัยก็ควรคาดให้ถูกต้องเช่นกันนะครับ โดยจะต้องคาดให้พอดีกับตัวลูกน้อย ไม่หลวม หรือไม่แน่นจนเกินไป เพื่อที่จะได้ประคองตัวลูกน้อยให้อยู่ติดกับคาร์ซีทนั่นเอง และหากเกิดอุบัติหรือเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดคิดจะได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้ครับ
สำหรับการเลือกซื้อคาร์ซีทนั้นจะมีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น แนะนำให้เลือกศูนย์บริการที่ครอบคลุมในประเทศไทยนะครับ เพราะหากคาร์ซีทเกิดความเสียหายหรือต้องซ่อมบำรุงเมื่อไรจะได้หาอะไหล่ได้ง่ายนั่นเองครับ เรื่องการเซอร์วิสก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันนะค้าบบ
และมีอีกอย่างที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเกิดความกังวลก็คือ การที่ลูกน้อยไม่ยอมนั่งคาร์ซีท ใช่หรือไม่ครับ? สำหรับวิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยงอแงไม่ยอมนั่งคาร์ซีทนั้น อาจจะใช้วิธีการใช้ของเล่นหรือกากิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อยเพื่อให้เล่นของเล่นแบบเพลินๆ ในขณะที่นั่งคาร์ซีท หรือในบางครั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถย้ายไปนั่งที่เบาะหลังข้างๆ คาร์ซีทแทนก็ได้ครับ เพื่อทำให้ลูกน้อยรู้สึกว่ามีเพื่อนและไม่งอแงนั่นเอง
แต่ถ้าให้ลูกน้อยมานั่งตักของผู้ปกครองโดยไม่นั่งที่คาร์ซีท อาจเกิดความเสี่ยงสูงได้ครับ ซึ่งอาจจะเสียชีวิตได้ทั้งผู้ปกครองและลูกน้อยเพราะด้วยแรงกระแทกการชนของรถอาจทำให้ร่างของผู้ปกครองหรือลูกน้อยพุ่งชนเบาะหน้าหรือพุ่งออกจากรถได้นั่นเองครับ ดังนั้น ควรใช้ความอดทนหากลูกน้อยงอแง แต่ถ้าเมื่อลูกน้อยเริ่มชินกับการนั่งคาร์ซีทแล้วก็จะสบายและปลอดภัยในภายภาคหน้าครับ