หนึ่งในเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่นคือ “เล่มทะเบียนรถ” ซึ่งเหมือนกับบัตรประชาชนของเรา ที่ทุกคนต้องมี รถทุกคันจะต้องมีเล่มทะเบียนเช่นกัน
เล่มทะเบียนรถ
เล่มทะเบียนรถ (เล่มสีน้ำเงิน) คือ สมุดที่จดบันทึกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์คันนั้นๆ เอาไว้ และสามารถใช้แทนทะเบียนรถได้หากป้ายทะเบียนรถหาย ทะเบียนชำรุด แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเรียกตรวจ คุณสามารถยื่นเล่มทะเบียนให้คุณตำรวจดูพร้อมชี้แจงตามความจริงได้ ซึ่งบางคนอาจจะกลัวเล่มทะเบียนตัวจริงหายจึงเก็บไว้ที่บ้าน กรณีนี้ คุณสามารถทำเป็นสำเนายื่นแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เช่นกัน แต่ในความเป็นจริงควรจะมีเล่มทะเบียนรถตัวจริงเก็บเอาไว้ที่รถเป็นประจำ เพราะของจริงยังไงก็ดีกว่าสำเนาอยู่แล้ว ยกเว้นใครที่ยังผ่อนรถอยู่แล้วเล่มทะเบียนตัวจริงอยู่ที่ไฟแนนซ์ สามารถนำสำเนาและเอกสารการผ่อนชำระกับไฟแนนซ์ยื่นแทนได้
โดยในเล่มทะเบียนรถจะระบุรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะรายละเอียดสำคัญอย่าง เลขทะเบียนรถ เลขตัวถังรถยนต์ ประวัติการครอบครองรถยนต์ ซึ่งจะระบุชื่อเจ้าของรถเอาไว้เพื่อป้องกันการขโมยแล้วนำไปขายต่อ ตรงนี้ใครที่ซื้อรถมือสองต้องดูให้ละเอียดว่าชื่อเจ้าของรถในเล่มทะเบียนกับชื่อผู้ขายเป็นชื่อเดียวกันหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ต้องตรวจสอบให้ดีว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร รวมทั้งในเล่มทะเบียนยังระบุบันทึกการโอนรถ ปรับเปลี่ยน ยกเลิก ประวัติการเสียภาษีเอาไว้ทั้งหมด และที่ต้องสังเกตให้ดีคือ เล่มทะเบียนต้องอยู่ในสภาพปกติ หากมีการบันทึกรายละเอียดต่างๆ ในเล่มมาก่อนแล้ว เล่มต้องไม่ดูใหม่เกินไป หรือบางทีเล่มอาจจะมีการตีตรายกเลิกเล่มไปแล้ว และนำมาย้อมแมวอีกรอบ ต้องดูให้ดีๆ นะ
การต่อภาษีรถยนต์
การต่อภาษีรถยนต์ หรือ การต่อทะเบียนรถยนต์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่มีรถยนต์ไว้ในครอบครอง เจ้าของรถยนต์ทุกคันจะต้องรับผิดชอบ และต่อภาษีรถยนต์ทุกปี สามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน เพราะหากมีการล่าช้าจะต้องเสียค่าปรับ หรือขาดการชำระติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี คุณจะถูกระงับการใช้ทะเบียนรถยนต์ แถมยังเสียเวลาไปทำเรื่องขอทะเบียนใหม่ เรียกได้ว่ามีความยุ่งยากพอสมควร ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้รถทะเบียนขาดนะครับ
ขั้นตอนการต่อเล่มทะเบียน
รวมรวบขั้นตอนง่ายๆ เกี่ยวกับ 4 ขั้นตอนการต่อเล่มทะเบียนมาฝาก ไม่ว่าจะมือเก่าหรือมือใหม่ ก็ทำตามกันได้สบายเลยครับ
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมเอกสารให้พร้อม ต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์ให้พร้อมก่อน โดยเอกสารที่จะต้องใช้ ได้แก่
- สมุดทะเบียนรถพร้อมสำเนา
- หลักฐานการทำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ยังไม่หมดอายุ
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถ
ในกรณีที่รถยนต์จดทะเบียนมาแล้ว 7 ปีขึ้นไป ต้องนำรถไปตรวจสภาพที่ ตรอ. ซึ่งจะมีป้ายติดแจ้งให้ทราบตามอู่รถทั่วไป
ขั้นตอนที่ 2 คำนวณภาษีที่จะต้องจ่าย เตรียมเอกสาร และเตรียมทรัพย์ให้พร้อม ซึ่งยอดเงินภาษีที่เราต้องจ่ายก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทรถ รุ่นรถ ขนาดเครื่องยนต์ (ซีซี) น้ำหนักรถ หรืออายุรถ
ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบสภาพรถ รถยนต์ที่มีการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ควรตรวจสภาพกับอู่ทั่วไปที่มีป้าย ตรอ. เป็นเวลาล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือนก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี ในกรณีที่เป็นรถดัดแปลงสภาพ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับตัวเลขจางหายหรือมองไม่เห็น รถที่เจ้าของไม่ได้แจ้งการใช้งาน รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการโจรกรรม หรือขาดการต่อทะเบียนเกิน 1 ปี ไม่สามารถเข้ารับการตรวจสภาพที่ ตรอ. ได้ ต้องเดินทางไปตรวจที่กรมขนส่งเท่านั้นนะ
ขั้นตอนที่ 4 เลือกช่องทางการต่อทะเบียน แนะนำให้เตรียมเงินไปให้พร้อม เพราะการต่อเล่มทะเบียนส่วนใหญ่ต้องใช้เงินสด
การต่อภาษีรถยนต์เป็นเรื่องที่ผู้ครอบครองรถยนต์ต้องรับผิดชอบ เมื่อรถยนต์ของคุณครบกำหนดที่จะต้องต่อภาษี เพราะเป็นข้อบังคับตามกฎหมายกรมการขนส่งทางบก นอกจากนี้คุณยังสามารถต่อเล่มทะเบียนเว็บไซต์ของกรมการขนส่งได้ด้วยนะครับ ซึ่งช่องทางนี้สามารถชำระเงินได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิตเลยครับ