ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ภัยที่มาจากอากาศร้อนที่มีตั้งแต่อาการที่แสดงออกจากน้อยไปถึงมาก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการที่แสดงน้อยจะเป็นผู้ที่มีอาการตั้งแต่การบวมโดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้าอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ รวมถึงเวียนหัวได้ และสำหรับผู้ที่อาการแสดงมากเลยก็จะมีอาการขาดน้ำจากการสูญเสียความร้อนในปริมาณที่เยอะ
โรคนี้อันตรายถึงเสียชีวิตได้เลยนะครับ โดยความรุ่นแรงของโรคนี้ก็คือ ร่างกายจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่อมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติได้ โดยความผิดปกติจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ ซึ่งอาการนี้เป็นอาการเพียงเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนั้นถ้าเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ก็จะทำให้เกิดอาการฮีทสโตรก ที่มีอาการความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ซึ่งอาจมีภาวะชักได้นั่นเองครับ หรือถ้าหากหมดสติจากการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ และสุดท้ายอาจเสียชีวิตได้ครับ
สำหรับสัญญาณเตือนที่สำคัญ
- ตัวร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- อาการกระหายน้ำ
- หน้าแดง
- ไม่มีเหงื่อ ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อน และผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น
- วิงเวียนศีรษะ
- ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว หรือหายใจถี่ๆ
- ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน
- มีความรูสึกตัวลดลง ตอบสนองช้า หน้ามืด หมดสติ
สาเหตุของการเกิด สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท
- Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนกับสิ่งแวดล้อมมากเกินไป โดยพบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง สำหรับอาการจะมีอุณหภูมิในร่างกายที่สูง แต่ไม่มีเหงื่อ มักจะเกิดในช่วงที่มีคลื่นความร้อนสูงหรืออยู่ในห้องที่ปิดมิดชิดไม่มีที่ระบายอากาศนั่นเองครับ
- Exertional Heat Stroke มักจะเกิดกับการออกกำลังกายที่หักโหมมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่ใช้แรงงานหรือพวกนักกรีฑา ซึ่งอาการจะคล้ายๆ กับ Classical แต่จะแตกต่างกันที่กลุ่มผู้ป่วย โดยจะมีเหงื่อออกมามากต่อมากเหงื่อจะหยุดออก และอาจมีอาการแทรกซ้อนได้อย่างเช่น ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และอาจพบไมโอโกลบินในปัสสาวะอีกด้วยนะครับ
การปฐมพยาบาล
อย่างแรกเลยก็คือ จะต้องดูว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าหากดูแล้วมีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติให้ลองคลำที่ชีพจรดูว่า การหายใจของเขาผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะต้องทำ CPR และโทรแจ้ง 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
และสำหรับผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติอยู่ ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มๆ และดื่มน้ำเยอะๆ และจะต้องรีบทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงอาจจะใช้น้ำแข็งหรือการใช้ cool blanket ก็คือการใช้ผ้ายางใส่น้ำแข็งลงไปนั่นเองครับ และให้ผู้ป่วยนอนอยู่ตรงที่มีพัดลมด้วยนะครับ รวมถึงการชุบน้ำเพื่อเช็ดตัวก็สามารถทำได้ โดยการเช็ดเหมือนกับผู้ป่วยที่เป็นไข้ ก็คือการเช็ดสวนขึ้นมาเข้าทางหัวใจ โดยเช็ดไปทางเดียวกัน พร้อมกับเปิดพัดลมหรือใช้พ่นละอองน้ำเพื่อเป็นการระบายความร้อนครับ
นอกจากนี้ถ้าพบเหตุการณ์แบบนี้พยายามอย่าล้อมผู้ป่วย เพราะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก รวมถึงถอดเครื่องประดับที่ไม่จำเป็นออก และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรืออุณหภูมิห้องมาเช็ดตามใบหน้า ลำตัวได้นะครับ หรือจะใช้น้ำแข็งประคบที่ซอกคอ ขาหนีบ รักแร้ก็ได้นะครับ เพื่อเป็นการทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง
การป้องกัน
จะต้องหลีกเลี่ยงการออกแดดหรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน แต่ถ้าหากจำเป็นจะต้องอยู่กลางแจ้งจริงๆ จะต้องกางร่มด้วยนะครับ ดื่มน้ำให้มากๆ แนะนำให้ทานน้ำเย็น ทานไอศกรีม หรือหากอยู่ในบ้านให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อไม่ให้ห้องอับจนเกินไป เพราะการอยู่ในห้องที่ปิดจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท และเกิดความร้อนสะสมนั่นเองครับ อาจทำให้เกิดฮีทสโตรกได้แม้ว่าจะอยู่ในบ้านนั่นเอง
รวมถึงการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา และน้ำหนักเบา เพื่อที่จะสามารถระบายความร้อนได้ดีครับ หากต้องออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดด้วยนะครับ ที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป
สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่าพยายามออกไปอยู่กลางแดดนานจนเกินไปนะครับ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องกางร่มและพยายามหลบเข้ามาอยู่ในที่ร่มบ้าง และยิ่งเป็นเด็กกับผู้สูงอายุจะต้องดูแลเป็นพิเศษเลยครับ
สิ่งที่ควรระวังก็คือ อย่าทำให้ร่างกายขาดน้ำ เตรียมน้ำไว้เยอะๆ นั่นเองครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลวิภาวดี