เชื้อไวรัสอยู่รอบตัว เราต้องรับมือให้ทัน สำหรับท่านใดสงสัยในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล หรือไม่มั่นใจเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ และถ้าเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา จะต้องติดต่อกับหน่วยไหนนะ บันทึกบทความหน้านี้ไว้แล้วมาดูกัน!
เบอร์ 1330 สายด่วน สปสช.

- เป็นเบอร์ที่สามารถสอบถามข้อมูลการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้สิทธิเกี่ยวกับ COVID-19 ของสิทธิบัตรทองก็สอบถามได้ครับ
เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

- เป็นเบอร์สายด่วนของกรมควบคุมโรค ที่ให้บริการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 ให้คำปรึกษาเรื่องการรักษาดูแล และแจ้งเรื่องกรณีติดเชื้อ COVID-19 ด้วยนะครับ
เบอร์ 1669 สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน

- เป็นเบอร์สายด่วนของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ที่ให้บริการรับแจ้งทั้งในกรณีเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกโรค หรืออุบัติเหตุฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต และรวมทั้งกรณีเมื่อมีการป่วยหรือมีอาการเสี่ยงเข้าข่ายอาการ COVID-19 สามารถโทรแล้วแจ้งอาการป่วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ซักถามรายละเอียดนะครับ
เบอร์ 02-872-1669 ปรึกษาปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP

- กรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล และเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP เกิดถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล ให้โทรติดต่อเบอร์นี้เพื่อรับคำแนะนำและการช่วยเหลือ
แต่ก่อนจะโทรเบอร์สายด่วน เราต้องตรวจเช็คร่างกายของตัวเองก่อนนะครับว่าอาการที่เป็นนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเพียงแค่เป็นไข้หวัดทั่วไป เพราะอาการ 2 ตัวนี้มีความใกล้เคียงกัน มาเช็คกันว่าที่ป่วยอยู่นี้ติดเชื้อไวรัสหรือไข้หวัดทั่วไป คลิก นอกจากตรวจเช็คร่างกายตัวเองแล้วยังต้องรู้วิธีการป้องกันด้วยนะครับคลิก
และสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือการล้างมือให้สะอาดและการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพราะมือเป็นอวัยวะที่สัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่ายที่สุด การล้างมือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสได้ แล้วยังช่วยป้องกันโรคติดเชื้ออีกจำนวนมากที่สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส การล้างมือควรล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประมานอาหาร รวมถึงออกไปข้างนอกมาก็ต้องล้างมือนะครับ เพราะเชื้ออาจเกาะอยู่ที่ลูกบิดประตู ราวบันได และควรล้างมือให้ถูกต้องด้วยนะครับ
สำหรับการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) เป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้สารคัดหลั่งต่างๆ ที่เกิดจากการไอ จาม น้ำลาย น้ำมูก รวมถึงเหงื่อไม่ถึงกัน นอกจากเว้นระยะห่างแล้วต้องงดการรวมตัวกันในสถานที่ต่างๆ เลือกรับประทานอาหารที่เป็นชุดสำหรับคนเดียวแทนการทานร่วมกับผู้อื่น เปลี่ยนการสื่อสารเป็นแบบออนไลน์หรือติดต่อทางโทรศัพท์เป็นหลัก และเมื่อเดินห้างลดการเข้าลิฟต์แล้วเน้นการเดินขึ้นลงบันไดแทน แต่ถ้าหลายชั้นสามารถใช้ลิฟต์ได้แต่ต้องไม่แออัดกันในลิฟต์จนเกินไปนะครับ และอย่าลืมรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) ประมาณ 1-2 เมตร และลดการรวมกลุ่มด้วยนะครับ