ทุกวันนี้มิจฉาชีพมีมากขึ้นทุกวัน และมักจะใช้การส่งลิงก์ปลอมมาให้เราหากเผลอกดเข้าไปล่ะก็...อันตรายและเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวรวมไปถึงเงินในบัญชีเราอาจจะหายหมดบัญชีก็ได้นะครับ การกดลิงก์ปลอมที่พวกมิจฉาชีพส่งมาให้ทั้งทาง SMS ข้อความในไลน์ อีเมล และช่องทางอื่นๆ ที่สามารถหลอกล่อให้เราหลวมตัวตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตามเมื่อเผลอกดลิงก์ปลอมไปแล้ว แต่เอ๊ะใจหรือรู้แล้วว่าเรานั้นกดลิงก์ปลอมไปให้ใช้วิธีการเบื้องต้นเมื่อเรากดพลาดเข้าไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดน้อยที่สุดหรืออาจจะไม่เกิดความเสียหายอะไรเลยก็ได้ครับ ซึ่งหากเราจัดการหรือแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และไหวตัวทันก่อนก็จะไม่เกิดความเสียหายขึ้น
วิธีการจัดการเบื้องต้น
ตั้งสติ พร้อมตัดการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต
เมื่อเรากดเข้าไปแล้ว แล้วรู้สึกว่าเรากำลังถูกหลอกอย่างเพิ่งตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูกนะครับ ให้ตั้งสติและรีบตัดการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์นั้นทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลของเราจะรั่วไหลออกไปนั่นเอง หากในกรณีลิงก์ที่เรากดเข้าไปนั้นเป็นการติดตั้งโปรแกรมบางอย่างลงในอุปกรณ์ของเรา เมื่อเราตัดการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตออกจะทำให้โปรแกรมไม่สามารถทำงานจากระยะไกลได้
ไม่กรอกข้อมูลใดๆ
ลิงก์ที่เรากดเข้าไปนั้นมันจะพาไปยังหน้าที่จะต้องดำเนินตามขั้นตอนต่อไปอย่าง การกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือเป็นการกรอกข้อมูลทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่ควรกรอกข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ให้ออกจากหน้าเว็บทันทีพร้อมปัดทิ้งหน้าเว็บนั้นไปหรือเข้าไปที่การจัดการแอปพลิเคชันในตั้งค่า และเลือกให้แอปหยุดการทำงาน จากนั้นจึงตัดการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตครับ
รู้ทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำอย่างไรไม่ให้โดนหลอก คลิก
ข้อความแจ้งมาที่หน้าจอ
หากว่าเจอข้อความเด้งขึ้นให้กด ยืนยัน/ตกลง/อนุญาต ให้ใช้วิธีปัดหน้าเว็บทิ้งทันทีเพราะวิธีนี้จะทำให้แอปพลิเคชันหรือเว็บนั้นหยุดการทำงานก่อน เป็นการหลีกเลี่ยงการกดอะไรเพื่อไปต่อในหน้าเว็บนั้น ในกรณีที่เผลอกดถัดไปเรื่อยๆ แล้วให้ข้อมูลต่างๆ ในหน้าเว็บนั้นแล้ว แล้วเราเพิ่งรู้สึกเอ๊ะใจ ถ้ามีข้อความขึ้นที่หน้าจอว่าให้กด อนุญาต/ติดตั้ง/ยินยอม ไม่ว่าอะไรก็ตาม “ห้าม” กดเด็ดขาดเลยนะครับ แล้วใช้วิธีเดิมคือออกจากหน้าเว็บนั้นทันที พร้อมกับปิดการใช้งานของแอปพลิเคชันหรือเว็บ และอย่าลืมตัดการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตด้วยนะครับ

ปิดการใช้งานแอปพลิเคชันทั้งหมด
หลังจากตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วให้รีบเคลียร์แอปพลิเคชันที่เปิดการใช้งานที่ค้างไว้ทั้งหมดทิ้งก่อน แล้วไปจัดการแอปที่กำลังทำงานอยู่ให้หยุดทำงาน จากนั้นให้เช็กว่าบนอุปกรณ์ของเรามีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ หากเจอว่ามีแอปพลิเคชันที่ปลอมแปลงให้ถอนการติดตั้งทันทีหรือถ้าเป็นไปได้ให้กดล้างเครื่องใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นการคืนค่าจากโรงงาน
เปลี่ยนรหัสทุกบัญชี
หากไม่ต้องการที่จะล้างเครื่องหรือคืนค่าโรงงาน ให้เข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านในทุกบัญชีที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแอปพลิเคชันธนาคาร รวมไปถึงโซเซียลและอีเมล พร้อมทั้ง log out ออกจากระบบให้หมดในทุกอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย

ยืนยันตัวตนสองชั้น
ในปัจจุบันหลายๆ เว็บไซต์หรือบริการของแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มีฟีเจอร์ใหม่ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานคือ การยืนยันตัวตนสองชั้น ซึ่งเราจะต้องกดยืนยันตัวตนขั้นที่ 2 ให้ผ่านก่อนจึงจะเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันนั้นๆ ได้ สำหรับวิธีนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์และบัญชีของเราได้ครับ ไม่ให้ถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้นั่นเอง หากมิจฉาชีพได้รหัสผ่านของเราแล้วมันจะพยายามเข้าสู่ระบบ เมื่อเราใช้วิธีการกดยืนยันตัวตนสองชั้นแล้ว พวกมิจฉาชีพก็จะไม่สามารถเข้าระบบได้ง่ายๆ เพราะติดการยืนยันตัวตนในขั้นที่ 2
การเคลื่อนไหวของบัญชี
หลังจากที่พยายามป้องกันทุกทางแล้ว ให้สังเกตว่ามีความผิดปกติของบัญชีหรือไม่ หากดูแล้วว่ามีความผิดปกติให้รีบติดต่อธนาคารทันทีพร้อมกับดำเนินการแจ้งความ ส่วนโซเซียลมีเดียของเราหากมีความผิดปกติให้ลองเปลี่ยนรหัสผ่าน พร้อมกับออกจากระบบทุกอุปกรณ์ และเปิดการใช้งานการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น
วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้นหากเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้ตั้งสติและไม่ตื่นตระหนกนะครับ ให้รีบทำวิธีเบื้องต้นก่อนแล้วค่อยดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
หากพบเจอลิงก์แปลกปลอม หรือเผลอกดลิงก์ไปแล้วและต้องการแจ้งความ หรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับมิจฉาชีพในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนศูนย์ AOC 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง