ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเมื่อมีรถยนต์ก็มักจะนำรถไปแต่งเพื่อให้รถของเรานั้นสวย ให้ดูเท่ ดูสปอร์ต และในปัจจุบันนี้กฎหมายก็เริ่มเข้มงวดขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้วนะครับ สายซิ่ง สายแต่ง ท่านใดที่อยากจะแต่งรถแนะนำให้แต่งรถให้อยู่ในกฎหมายจะดีที่สุด จะได้ไม่เกิดความเสี่ยงต่อตัวรถและเสี่ยงผิดกฎหมายนั่นเองครับ สำหรับการแต่งรถจะแต่งอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายมาเช็คกันเลยครับ
หยุดพฤติกรรมแบบนี้! อันตรายถึงชีวิตหากไม่ขับขี่ตามกฎจราจร คลิก
แต่งรถไม่เสี่ยงโดนปรับ!
ก่อนที่จะเริ่มนำรถไปแต่ง เราควรศึกษากฎหมายให้ดีก่อนนะครับ ถ้าแต่งรถเกินที่กฎหมายกำหนดอาจจะเสี่ยงโดนปรับได้ เพราะนอกจากโดนปรับแล้วอาจโดนยึดรถเลยก็ได้นะครับ การที่ศึกษากฎหมายการแต่งรถเอาไว้จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้โดยเรียกนั่นเอง
เปลี่ยนสีรถ หรือ Wrap สีรถ
การ Wrap สีรถผิดกฎหมายหรือไม่ หากทำจะต้องแจ้งขนส่งหรือไม่ เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงสงสัยกัน ซึ่งจาก พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 ระบุไว้ว่า รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนสีรถให้แตกต่างไปจากข้อมูลที่จดทะเบียนเอาไว้ ต้องแจ้งกับนายทะเบียนภายใน 7 วัน โดยการเปลี่ยนสีรถต้องแจ้งขนส่งนั้นกำหนดเอาไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนสีตัวถังมากเกินกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่หากเปลี่ยนสีแค่บางจุดไม่เกินพื้นที่ 30% ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้ง
แต่ถ้ามีการเปลี่ยนสีในส่วนของกระโปรงหน้าหรือหลังให้เป็นสีอื่น กรณีนี้จะถือว่าเข้าข่ายเปลี่ยนสีเกิน 30% และจำเป็นต้องแจ้งขนส่ง หากไม่แจ้งกับขนส่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 และมาตรา 60 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ท่อไอเสีย
การเปลี่ยนท่อไอเสียนั้นไม่ได้ผิดกฎหมายอะไรนะครับ เพียงแต่ในกรณีที่ไปทำท่อไอเสียรถยนต์ให้เกิดเสียงดังกว่าเดิม สำหรับท่อไอเสียจะต้องดังไม่เกิน 95 เดซิเบล หากดังเกินกว่านี้จะถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กฎจราจรทางบกที่ต้องรู้! ผู้ขับขี่หรือผู้นั่งหากทำผิดเพิ่มอัตราโทษหลายกรณี คลิก
ถอดเบาะหลังติดโรลบาร์
หากติดโรลบาร์แล้วจำนวนเบาะภายในรถยนต์มีจำนวนเท่าเดิมถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าในกรณีที่ถอดเบาะรถยนต์ออก ทำให้จำนวนเบาะภายในรถยนต์ไม่เท่าเดิม แบบนี้จะถือว่าผิดกฎหมายครับโดยมีความผิดฐานมีอุปกรณ์ในรถไม่ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
รถยกสูงหรือโหลดเตี้ย
การทำรถยกสูงหรือโหลดเตี้ยนั้นสามารถทำได้นะครับ แต่ควรทำให้อยู่ในกฎหมายก็คือ ยกสูงได้ไม่เกิน 135 ซม. และในการโหลดเตี้ยจะต้องไม่เตี้ยกว่า 40 ซม. นั่นเองครับ
ไฟไอติม
การติดไฟไอติมบอกได้เลยครับว่าผิดกฎหมายแน่นอน หากไปดัดแปลงไฟหน้าให้มีความสว่างมากกว่าไฟปกติหรือสว่างกว่าไฟตัวเดิมที่ออกมาจากโรงงานจะถือว่าผิดกฎหมายครับ เพราะอาจทำให้เกิดอุบติเหตุได้ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ในมาตรา 38 ได้ระบุไว้ว่า ไฟเลี้ยวรถยนต์จะต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน และไฟหยุดหรือไฟเบรกจะต้องเป็นไฟสีแดงเท่านั้น หากมีการแต่งไฟสีหรือทำให้ไฟสว่างกว่าเดิมจะมีการระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
เสริมแหนบหรือเบิลโช้ค
หากมีการเสริมแหนบหรือเบิลโช้คแล้วไม่ได้แจ้งกับทางขนส่ง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่บัญญัติไว้ว่า รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
อันตรายเช็คด่วน! หากช่วงล่างเกิดมีเสียงขณะขับขี่ คลิก
ล้อรถยนต์
- ล้อรถด้านท้ายจะยื่นออกมาจากตัวถังรถได้ไม่เกิน 15 ซม. และขอบยางด้านนอกสุดห้ามยื่นออกมาเกินตัวถังรถ ถ้ายื่นเกินตัวถังรถแสดงว่าได้เปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (ข้อหาดัดแปลงสภาพรถ)
- ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ระบุไว้ว่า บังโคลนที่ล้อทุกล้อจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่าขนาดของยางรถ ดังนั้นถ้าล้อยื่นออกมานอกบังโคลนจึงเป็นเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะใช้รถที่มีส่วนควบหรืออุปกรณ์ไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- การเปลี่ยนขนาดของยางให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง จะต้องไม่ทำให้ขีดความสามารถในการรับน้ำหนักของยางน้อยไปกว่าเดิม มาตรวัดความเร็วของรถมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 10% ระบบบังคับเลี้ยวต้องทำงานปกติ และเมื่อบรรทุกเต็มอัตราบรรทุกต้องไม่เกิดการเสียดสีหรือติดขัดกับตัวถังหรืออุปกรณ์ต่างๆ ของรถ และต้องไม่ทำให้ระดับความสูงของโคมไฟหน้า โคมไฟท้ายและโคมไฟอื่นๆ ต่ำกว่าหรือสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
- การแต่งรถล้อล้น ยังเสี่ยงเป็นความผิดในข้อหา นำรถที่มีสภาพอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้หรือประชาชนมาใช้ในทางเดินรถ เพราะกรณีที่ล้อล้นตัวถังออกมา อาจทำให้ผู้ขับขี่กะระยะผิด หรือล้อไปเกี่ยวหรือไปชนรถคนอื่นได้ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
อ้างอิงข้อกฎหมาย
- พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 มาตรา 12 มาตรา 14 มาตรา 58 มาตรา 60
- พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 6 กฎกระทรวง กำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ. 2551 ข้อ 3 กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์ และของรถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถประเภทต่างๆ
- พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2548 ข้อ 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และ ข้อ 19
- ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตให้ใช้รถที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2562
เจอถนนแบบนี้ขับอย่างไร? กับทางเอก-ทางโท คลิก
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะนำรถไปแต่งเพิ่มหรือดัดแปลง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ลองศึกษาข้อกฎหมายก่อนนะครับ เพื่อที่จะได้ไม่เสี่ยงเมื่อโดนเรียกตรวจ และจะได้ไม่เสี่ยงเสียค่าปรับอีกด้วยนะครับ